ร๊ากเพื่อนๆคับ

วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การดูแลรักษาสุขภาพดวงตา

ดูแลรักษาดวงตาอย่างไร...ไม่ให้เสื่อมก่อนวัย
         อันที่จริงแล้วการดูแลรักษาสุขภาพสายตา  เริ่มต้นจากการใช้สายตาอย่างถูกต้องเหมาะสม  การป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตา  ซึ่งจักษุแพทย์มักจะแบ่งออกเป็นตามช่วงอายุ  โดยจะกล่าวถึงโรคตาที่พบบ่อยในแต่ละช่วงอายุนั้น  ซึ่งการแพทย์จะแบ่งง่าย ๆ เป็น 3 ช่วงอายุดังนี้
1.   ในวัยเด็ก  เริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก (ก่อนวัยเรียน)  และเด็กโตอายุไม่เกิน 10 ขวบ  พ่อแม่ควรให้ความสำคัญในการสังเกตดวงตาของลูกว่ามีภาวะตาเขหรือไม่  มีการมองเห็นปกติหรือไม่  ซึ่งเด็กมักจะไม่บอกเราว่าตามัวหรือมองเห็นไม่ชัด  อาจมีพฤติกรรมการไม่จ้องหน้าแทน  เป็นการบ่งบอกว่าการมองเห็น ไม่ดี  หรืออาจมีพฤติกรรมเพื่อพยายามปรับตัวให้มองเห็นชัดขึ้น  เช่น  การหรี่ตา  การเอียงหน้าเอียงศีรษะ  ในเด็กวัยเรียนหากมีปัญหาเกี่ยวกับสายตา  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการแก้ไข  เพราะนอกจากจะมีผลโดยตรงกับการเรียนแล้ว  ในวัยนี้ยังเป็นช่วงเวลาสำคัญในการรักษาภาวะตาขี้เกียจจากสาเหตุต่าง ๆ ของเด็กได้อีกด้วย
         ความผิดปกติทางสายตาของเด็กควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม  อาทิเช่น  การพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจกล้ามเนื้อตา  วัดสายตา  และแก้ไขด้วยการสวมแว่นสายตาหรือผ่าตัดกล้ามเนื้อตา  ในเด็กโตขึ้นมา  ควรระวังภัยอันตรายที่เกิดจากสัตว์เลี้ยงในบ้าน  อาทิเช่น  นก-ไก่จิกตา  การถูกกัดและข่วนโดยสุนัขหรือแมวและสัตว์อื่น ๆ ที่เลี้ยงไว้ในบ้านหรือที่โรงเรียน
2.   วัยรุ่นและวัยทำงาน  ก็ยังจำเป็นต้องใช้สายตา  ปัจจุบันพบว่าวัยรุ่นที่มีปัญหาทางด้านสายตามักจะใส่คอนแทคเลนส์  ควรเอาใจใส่ในการรักษาความสะอาด  และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด  เพื่อลดปัญหาการติดเชื้อหรือการอักเสบอื่น ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการสูญเสียดวงตาได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ควรหลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์นอน  และไม่ใส่คอนแทคเลนส์เล่นน้ำ  ไม่ว่าจะเป็นน้ำตก  แม้น้ำลำคลอง  ทะเล  หรือสระว่ายน้ำ  สิ่งสำคัญอีกประการคือ  ในวัยนี้เป็นวัยที่มีความเสี่ยงกับอุบัติเหตุจากการทำงานได้สูง  การป้องกันอันตรายและอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับดวงตามีหลายวิธี  โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือ  การสวมแว่นป้องกันเมื่อทำงานที่เสี่ยงกับวัตถุสิ่งแปลกปลอมกระเด็นเข้าตา  เช่น  การตอกตะปู  การเคาะเหล็ก  เจียเหล็ก  การใช้เครื่องกำบังขณะเชื่อมโลหะ  เป็นต้น  อีกทั้งยังช่วยป้องกันสารเคมีกระเด็นเข้าตาได้ด้วย
         นอกจากนี้  การสวมแว่นกันแดดที่มีคุณภาพ  ก็สามารถช่วยป้องกันอันตรายจากรังสี UV  ต่อดวงตาได้  ซึ่งส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าการสวมแว่นกันแดดจำเป็นเฉพาะผู้ที่ชอบเที่ยวทะเล  หรือทำงานในที่แดดจัด ๆ เท่านั้น  เพราะถึงแม้ว่าคุณจะอยู่ในที่ร่ม  รังสี UV  ก็สามารถสะท้อนจากผิวน้ำ  พื้นผิวของหาดทรายได้  แสงสะท้อนจากพื้นผิววัตถุเหล่านี้เป็นอันตรายต่อผิวกระจกตาดำ  นอกจากนี้  แว่นกันแดดยังมีประโยชน์ในการป้องกัน  ลม  ฝุ่น  ควัน  ที่จะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตาขาวได้อีกด้วย
         ดังนั้น  ควรเลือกแว่นกันแดดที่มีคุณภาพในการช่วยปกป้องทะนุถนอมสายตาของคุณ  เพราะแว่นกันแดดราคาถูกเลนส์ต่าง ๆ จะไม่มีคุณภาพเพียงพอในการปกป้องแสงแดด  เมื่อใส่ไปนานๆ อาจะทำให้ตาเมื่อยล้า  และปวดแสบตาจนก่อปัญหากับสายตาได้ในที่สุด
3.   วัยสูงอายุ  เป็นวัยที่เริ่มมีการเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงดวงตาด้วย  สำหรับผู้สูงอายุแนะนำให้ตรวจเช็กสุขภาพตาประจำปี  เพื่อตรวจวัดระดับสายตาที่เปลี่ยนแปลงจากสายตาสูงอายุ (หรือที่ทั่วไปเรียกว่าสายตายาว  แต่อันที่จริงคือสายตายาวที่ระยะใกล้  ซึ่งในต่างประเทศเรียกว่า short  arm  syndrome)  ควรได้รับการตรวจหาโรคต้อกระจก  ตรวจเช็กความดันตาและขั้วประสาทตาเพื่อเฝ้าระวังโรคต้อหินและตรวจจอประสาทตา  เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย  อาทิเช่น  เบาหวาน  ความดันโลหิตสูง  ไขมันในเส้นเลือดสูง  ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจจอประสาทตาจากจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ  ร่วมไปกับการติดตามการรักษาจากอายุรแพทย์
   วิธีการถนอมดวงตา
                                                      
           วันหนึ่งนายแพทย์เบตส์กลับจากทำงานด้วยดวงตาอันอ่อนล้า เขานั่งลงที่โต๊ะทำงานในห้องที่ยังไม่ได้เปิดไฟวางข้อศอกทั้งสองข้างลงบนโต๊ะโค้งอุ้งมือทั้งสองวางครอบดวงตาของตนหลับตาพักผ่อนในท่านั้นอยู่สิบนาทีพอลืมตาขึ้นอีกครั้งหนึ่งเขารู้สึกว่าอาการปวดเมื่อยดวงตาหายไปแถมมองเห็นสิ่งต่างๆ ในห้องชัดเจนขึ้นกว่าเก่าอีกด้วย จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวนายแพทย์เบตส์ได้ค้นคิดวิธีการฝึกสายตาอย่างธรรมชาติ เพื่อพักผ่อนกล้ามเนื้อตาและช่วยรักษาสายตาให้ดีขึ้น นายแพทย์เบตส์เขียนหนังสือชื่อ Perfect Sight without Glasses เป็นที่นิยมแพร่หลาย แม้ภายหลังเขาเสียชีวิต แต่วิธีการของนายแพทย์เบตส์ยังได้รับการเผยแพร่โดยแพทย์ทั้งหลายทั่วยุโรปและอเมริกา "วิธีของเบตส์" มี 7 ท่าด้วยกัน ท่าที่ 1 ครอบดวงตา โค้งอุ้งมือทั้งสองครอบดวงตาไว้เฉย ๆ ระวังอย่าให้อุ้งมือกดทับดวงตา นึกถึงบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เช่น วันพักผ่อนสุดสัปดาห์ตามป่าเขาหรือชายทะเลอยู่ในท่านี้สัก 10 นาที ท่าที่ 2 สร้างจินตภาพ ต่อจากท่าที่ 1 ยังคงครอบดวงตาอยู่ สร้างจินตภาพว่าตนเองกำลังมองวัตถุบางอย่างที่มีสีสันสดใสมีรายละเอียดต่างๆ ที่ชัดเจน เช่น มองเห็นดอกเบญจมาศสีเหลืองสวยเห็นกลีบดอกแต่ละกลีบละเอียดชัดเจนสายตาที่คมชัดจากจินตนาการของเราเองจะช่วยเยียวยาสายตาจริง ๆ ของเราได้เป็นอย่างดี ท่าที่ 3 กวาดสายตา มองแบบไม่ต้องจ้อง (คนสายตาสั้นมักจ้องและเขม้นตา) กวาดสายตาไปตามวัตถุที่อยู่ไกล ๆ ทางโน้นบ้างทางนี้บ้างทำให้ตาของเราได้ผ่อนคลาย ท่าที่ 4 กะพริบตา ฝึกนิสัยให้กะพริบตา 1-2 ครั้ง ทุก ๆ 10 วินาที ช่วยให้แก้วตาสะอาดและมีน้ำหล่อเลี้ยง โดยเฉพาะคนที่สวมแว่นหรือคอนแทคเลนส์ยิ่งจำเป็น ท่าที่ 5 โฟกัสภาพใกล้และไกล เหยียดแขนซ้ายไปให้ไกลที่สุด ตั้งนิ้วชี้มือซ้ายขึ้นเพื่อเป็นจุดโฟกัส ขณะเดียวกัน ตั้งนิ้วชี้มือขวาให้ห่างจากใบหน้าสัก 3 นิ้ว (7.5 ซม.) โฟกัสภาพที่แต่ละนิ้วสลับกันไปมา ทำบ่อย ๆ เมื่อโอกาสอำนวย ท่าที่ 6 ชโลมดวงตา ตื่นนอนทุกเช้าใช้มือวักน้ำชโลมดวงตาด้วยน้ำอุ่น สัก 20 ครั้ง สลับกับการวักน้ำเย็นชโลมดวงตาอีก 20 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เลือดหมุนเวียนมาเลี้ยงดวงตาดีขึ้น การจบด้วยน้ำเย็นทำให้กล้ามเนื้อตาและหนังตากระชับไม่หย่อนยาน ก่อนเข้านอนให้วักน้ำชโลมดวงตาอีกครั้งหนึ่งแต่คราวนี้ชโลมด้วยน้ำเย็นก่อนแล้วตามด้วยน้ำอุ่นจะทำให้กล้ามเนื้อตาและหนังตาได้ผ่อนคลายก่อนเข้านอน ท่าที่ 7 แกว่งตัว ยืนแยกเท้าเท่ากับช่วงไหล่ แกว่งตัวไปมาจากซ้ายไปขวาถ่ายน้ำหนักตัวบนขาแต่ละข้างสลับไปมา สายตามองไปไกล ๆ แต่ไม่ต้องจ้องปล่อยให้จุดที่เรามองแกว่งไปมาซ้ายขวาตามการแกว่งตัวท่านี้จะทำให้ดวงตาได้พักและมีการปรับตัวดีขึ้น ทำ บ่อย ๆ เมื่อมีโอกาส เปิดเพลงคลอไปด้วยก็ได้ "วิธีของเบตส์" ได้รับการยืนยันจากจักษุแพทย์จำนวนมากว่าเป็นการฝึกดวงตา ที่เป็นระบบช่วยรักษาสายตาคนไข้ได้เป็นจำนวนมาก ด้วยความปราถนาดีจากศูนย์แอ็ดวานส์เลสิค 
    อาหารเพื่อสุขภาพตา 


  
     เราจึงจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่ช่วยรักษาสุขภาพตา คือ สารแอนติออกซิแดนท์ (วิตามินซี อี เบตาแคโรทีน ลูทีน ซีแซนทิน สังกะสี และไบโอเฟลโวนอยด์)
เบตาแคโรทีน เป็นสารอาหารที่ร่างกายเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ ซึ่งช่วยในการมองเห็นในที่มืด และยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพตา ช่วยบำรุงรักษาดวงตาและป้องกันโรคตาหลายชนิด เช่น ต้อกระจก โรคตาบอดกลางคืน และยังช่วยให้ผิวเยื่อเมือกต่าง ๆ ในร่างกายชุ่มชื้นด้วย
ลูทีน (Luteine) และซีแซนทิน (Zeaxanthin) เป็นสารแคโรทีนอยด์ ชนิดหนึ่งมีสีเหลือง พบมากในพืชผักที่มีสีเหลืองและสีเขียวเข้ม เช่น ผักกาด คะน้า ปวยเล้ง ลูทีนและซีแซนทิน เป็นสารธรรมชาติที่พบมากในตาบริเวณจุดรับภาพและจอประสาทตา ทำหน้าที่ช่วยกรองหรือป้องกันรังสีจากแสงแดด ช่วยปกป้องเซลล์ของจอประสาทตาไม่ให้ถูกทำลายโดยการลดอนุมูลอิสระที่ทำลายดวงตา และกรองแสงสีน้ำเงินที่จะทำลายดวงตา ร่างกายจำเป็นต้องได้รับสารลูทีนจากอาหาร ส่วนสารซีแซนทิน นอกจากจะได้จากอาหารส่วนหนึ่งแล้ว ร่างกายสามารถเปลี่ยนสารลูทีนในตาไปเป็นสารซีแซนทินได้ ปริมาณลูทิน 6 มก./วัน ช่วยลดความเสี่ยงจอประสาทตาเสื่อมถึงร้อยละ 50
ดังนั้นผู้ที่บริโภคผักผลไม้หลายๆ สีเป็นประจำสามารถลดความเสี่ยงโรคจอประสาทตาเสื่อม เนื่องจากผลไม้จะเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระดังกล่าว
ไบโอเฟลโวนอยด์ พบได้ในบลูเบอร์รี่หรือบิลเบอร์รี่ องุ่นแดง ส้ม และเครนเบอร์รี่ ไบโอเฟลโวนอยด์ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ คือ สารแอนโธไซยานิติน ช่วยป้องกันเลนส์ตาและสร้างความแข็งแรงให้กับสารคอลลาเจน
สารสกัดจากบิลเบอร์รี่ ได้รับความนิยมสูงมากรองจากลูทีน นอกจากจะช่วยป้องกันเลนส์ตาแล้ว ยังช่วยให้มองเห็นในที่มืดหรือที่มีแสงสลัว ๆ ได้ชัดเจนขึ้น บิลเบอร์รี่ เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้กันมานานตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากนักบินทหารอากาศของอังกฤษสังเกตเห็นว่าการบริโภคแยมบิลเบอร์รี่ก่อนที่จะออกบินในเวลากลางคืน ช่วยให้สายตาทำงานในที่มืดดีขึ้น
บิลเบอร์รี่ เป็นผลไม้สมุนไพรที่มีความปลอดภัยและไม่พบพิษโดยผลจากการวิจัยต่างๆ ไม่พบผลข้างเคียง ดังนั้น นักวิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการมีสุขภาพดีของมนุษย์ด้วยการบำรุงรักษาอย่างถูกวิธี

ปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมที่จะทำลายเลนส์ตาและทำให้จอประสาทตาเสื่อมนั้น เป็นสิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนได้โดยการใช้แว่นกันแดดที่สกัดกั้นสารยูวี เลิกสูบบุหรี่ และบริโภคผักผลไม้ที่มีสารแอนติออกซิแดนท์และสารแอนโธไซยานิดินสูง การบริโภคผักและผลไม้วันละ 9 ส่วน ช่วยลดความเสี่ยงต้อกระจกและจอประสาทเสื่อม และเสริมสุขภาพด้านอื่นด้วยนะคะ

                                                                                       

วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554